OUR PRODUCT

ทุกท่านเคยทราบหรือไม่ว่า ทางเดินเท้าหรือพื้นที่ทั่วไปที่เราเดินย่ำกันอยู่ทุกวันนี้ บนพื้นมีสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ หรือความสำคัญนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีความหมายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้พิการทางสายตา หรือคนตาบอด

หากคุณลองสังเกตพื้นกระเบื้องที่ปูบนทางเท้า จะมีบางแผ่นที่พิเศษ มีลวดลายที่แตกต่างกันและเป็นลวดลายที่นูน อีกทั้งสีที่ต่างกันด้วย ปุ่มสัมผัสพิเศษเมื่อเราย่ำเท้าลงไปนั้น เราเรียกว่า Tactile, Braille Block หรือ เบรลล์บล็อค (กระเบื้องนำทางผู้พิการทางสายตา) พูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็คือ เป็นอักษรเบรลล์ที่ปรากฎบนทางเท้า ให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ได้ว่า เขาสามารถจะเลือกเดินไปในเส้นทางใดได้สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งจุดไหน คือ จุดที่ต้องหยุด หรือ สามารถเดินต่อไปได้นั่นเอง

ผู้ประดิษฐ์อักษรเบรลล์เป็นคนแรก คือ คุณครูตาบอดชาวฝรั่งเศส นามว่า คุณหลุยส์ เบรลล์ ซึ่งท่านได้คิดค้นสัญลักษณ์แทนตัวอักษรโดยเลือกใช้จุดนูนเล็กๆ ขึ้นมา โดยในแต่ละช่องจะประกอบไปด้วยจุดนูนเล็กๆ 6 ตำแหน่ง และจัดวางสลับตำแหน่งไปมาเป็นรหัสแทนตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ต่างๆ ผลิตผลจากการคิดค้นของหลุยส์ เบรลล์ ทำให้ผู้พิการทางสายตาทั้งหลายได้มีโอกาสท่องเที่ยว สื่อสาร เรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในโลกได้รวดเร็วและมากยิ่งขึ้น เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่วิเศษที่สุด เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้นแก่ผู้พิการทางสายตาทุกคนบนโลกใบนี้ และยกระดับความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคม

จากนั้นต่อมามีการต่อยอดการคิดค้นอักษรเบรลล์ขึ้นอีกครั้ง โดย ชาวญี่ปุ่น คุณ Seiichi Meyaki นั่นคือ การนำอักษรเบรลล์มาสร้างเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ผู้พิการทางสายตามากขึ้น โดยการทำทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่เรียกว่า Braille Block หรือ Tactile นั่นเอง

คุณ Seiichi Meyaki ครูโรงเรียนตาบอดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ได้คิดค้นทางเท้าที่เรียกว่า Tenji หรือ ที่รู้จักในชื่อของ Braille Block หรือ Tactile Paving ซึ่งเป็นทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา การคิดค้นครั้งนี้เริ่มในปีคริสต์ศักราช 1965 จากนั้นสองปีถัดมาตัวอักษรเบรลล์ได้นำมาประยุกต์และจัดสร้างเป็นกระเบื้องสำหรับทางเท้าขึ้น และได้มีการนำมาใช้จริงในครั้งแรกคือ วันที่ 18 มีนาคม ปีคริสต์ศักราช 1967 หน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายาม่า ได้รับเสียงตอบรับถึงความชื่นชมในการคิดค้น โดยมีหน่วยงานการรถไฟของประเทศญี่ปุ่น Japanese National Railway ให้ความเห็นชอบและสนับสนุนการจัดทำขึ้น โดยจัดให้มีการปู Braille Block หรือ Tactile ตามสถานีรถไฟในญี่ปุ่นก่อน และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายตามสถานที่สำคัญในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา จนกระทั่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการประดิษฐ์คิดค้นและนำมาใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน อาทิ เช่น ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ตลอดจนประเทศไทยเป็นต้น

สำหรับสัญลักษณ์บนทางเท้าของผู้พิการที่น่าสนใจมี 2แบบ ที่ควรทราบและทำความเข้าใจในการใช้งาน ซึ่งเป็น 2 แบบที่ คุณ Seichii Meyaki ได้ต่อยอดโดยการคิดค้นอักษรเบรลล์ขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ง่าย การจดจำและสะดวกต่อผู้พิการทางสายตา สัญลักษณ์ดังกล่าวคือ

HAZARD

ลักษณะเป็นปุ่มกลมๆ ซึ่งมีความหมายว่า ให้หยุด หรือ แจ้งให้ทราบว่าทางข้างหน้า เป็นทางม้าลาย หรือ บันได ในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ให้ความใส่ใจต่อผู้พิการทางสายตาเป็นพิเศษยิ่ง

DIRECTIONAL

ลักษณะเป็นเส้นยาวลายตรง ซึ่งมีความหมายตรงตามสัญลักษณ์ นั่นคือ ให้เดินตรงไป

สัญลักษณ์ทั้ง 2 แบบ เมื่อผู้พิการทางสายตาใช้ไม้เท้าอำนวยความสะดวกในการเดิน ก็จะสามารถสัมผัสและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น และที่สำคัญนอกจากอักษรเบรลล์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการบอกทิศทางและอำนวยความสะดวกในการเดินแล้ว ยังมีเรื่องของสี ซึ่งนิยมใช้สีเหลือง เพื่อความสว่างและมองเห็นง่าย กรณีนี้อำนวยความสะดวกเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่อาจจะมองเห็นได้บ้าง หรือ ผู้มีปัญหาทางการมองเห็น เพราะไม่ว่าจะกลางวัน หรือ กลางคืน ก็สามารถเห็นได้เช่นกัน

ไม่ว่าคุณ Seiichi Meyaki จะได้รับรางวัลจากนวัตกรรมที่ทรงคุณค่านี้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ควรต้องบอก คือ คำขอบคุณเสียงดังๆ ต่อคุณ Seiichi Meyaki ที่ท่านได้ตั้งใจและมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสดำรงชีวิตในโลกภายนอกได้สะดวก เฉกเช่นผู้คนปกติทั่วไปบนท้องถนน คุณ Seiichi Meyaki ได้จากโลกนี้ไปแล้วด้วยวัย 57ปี ทิ้งผลงานที่คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ไม่ทราบว่าใคร คือ ผู้คิดค้นรหัสลับบนทางเท้า เป็นรหัสที่บอกถึงความรักและความปรารถนาดีจากคุณ Seiichi Meyaki ต่อเพื่อนร่วมโลก ผลงานของคุณ Seiichi Meyaki คือ นวัตกรรมแห่งความสุขของผู้พิการทางสายตาอย่างแท้จริง

ปัจจุบันในประเทศไทย Tactile, Braille Block หรือ เบรลล์บล็อค (กระเบื้องนำทางผู้พิการทางสายตา) นับเป็นหนึ่งใน Universal Design หรือ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือการออกแบบเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม (universal design) เป็นคำที่พบกันบ่อยในแวดวงด้านการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของต่างๆ รวมถึงในกลุ่มคนทำงานด้านผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ที่มีข้อจำกัดในการใช้ หรือเข้าถึงสิ่งแวดล้อมสถานที่และสิ่งของเครื่องใช้ทั่วๆ ไปในสังคม

Most popular
products


Tactile, Braille Block กระเบื้องนำทางผู้พิการทางสายตา

 

การประยุกต์ใช้ Universal Design กับสังคมไทย

ท่ามกลางความต้องการที่หลากหลายในสังคมไทย การนำแนวคิด universal design มาใช้ให้มากขึ้น จะช่วยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน ได้อยู่ร่วมกันและยอมรับกัน ภายใต้พื้นฐานความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ เกิดมาเป็นคนเหมือนกันสังคม มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบให้สมาชิกทุกคนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

แนวคิดนี้สามารถเป็นจริงได้ ถ้าฝ่ายหลักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ร่วมมือร่วมใจที่จะดำเนินการ ได้แก่ ภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่น ที่ต้องดูแลและสนับสนุนให้มีการจัดสร้างก่อสร้างในระดับต่างๆ ให้ความสนใจและตระหนักว่าจะต้องดูแลสมาชิกทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ สถาปนิก วิศวกร และผู้รับผิดชอบด้านการก่อสร้าง รวมทั้ง ผู้ผลิตในฐานะผู้ออกแบบวางแผนในเชิงรายละเอียดที่ต้องใช้ความรู้ทักษะพิเศษในการสร้างและออกแบบที่ครอบคลุมถึงมวลชนทุกคน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีขีดจำกัดต่างๆ ในฐานะผู้ใช้บริการจะต้องช่วยเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้มีการปรับปรุงพัฒนาและสอดคล้องสะดวกแก่การใช้งานได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดก็เพื่อ ให้คนไทยได้อยู่ในสภาพแวดล้อม สถานที่ และมีสิ่งของเครื่องใช้ ที่สามารถรองรับการใช้งานได้สำหรับสมาชิกทุกคนในสังคม เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของคนไทยทั้งมวล อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน...นั้นเอง